คำนวณปริมาณอาหารสุนัขและแมวที่ต้องกินต่อวัน

ฟรี! โปรแกรมคำนวณอาหารสุนัขและแมวที่ต้องกินต่อวัน ทำง่ายๆด้วยตัวเอง เพื่อให้สัตว์เลี้ยงได้ปริมาณอาหารที่เหมาะสมเพื่อสุขภาพที่ดี อยู่กับทาสไปนานๆ

ฟรี! โปรแกรมคำนวณปริมาณอาหารสุนัขและแมวที่ต้องกินต่อวันด้วยตัวเองกันง่ายๆ ทำได้ด้วยตัวเอง เพื่อให้สัตว์เลี้ยงได้ปริมาณอาหารที่เหมาะสมเพื่อสุขภาพที่ดี และเหมาะสม

ในฐานะเจ้าของสัตว์เลี้ยงความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องอาหารถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอันดับต้นๆ เพื่อให้สัตว์เลี้ยงของท่านมีอายุยืนยาว การให้อาหารที่เหมาะสมกับช่วงอายุ สายพันธุ์ หรือภาวะต่างๆ เป็นสิ่งสำคัญที่อยากให้เจ้าสัตว์เลี้ยงได้รู้ไว้ วันนี้เรามีตัวช่วยในการประเมินปริมาณอาหารของสัตว์เลี้ยงที่ควรจะกินต่อวัน สามารถทำได้ง่ายๆด้วยตัวเอง นอกจากนี้เรายังแจกโปรแกรมวิเคราะห์อื่นๆเพื่องานสุขภาพสัตว์อีกมากมาย

เลือกเนื้อหาที่ต้องการอ่าน

คิดปริมาณอาหารแมวหรือสุนัขที่ต้องกินในแต่ละวันตามน้ำหนักตัว และ ภาวะทางโภชนาการ

วิธีประเมินปริมาณอาหารที่สุนัขและแมวต้องกินต่อวัน ตามน้ำหนักตัวและสภาวะโภชนาการ

วิธีคิดปริมาณอาหารสัตว์ที่ต้องกินในแต่ละวัน

การคำนวณปริมาณอาหารที่เหมาะสมให้กับสุนัขและแมว มีขั้นตอนดังต่อไปนี้

  1. คำนวณพลังงานที่สัตว์ต้องการต่อวันโดยหา ค่าพลังงานขณะที่พัก/ไม่ได้ทำกิจกรรม หรือ Resting energy requirement (RER) ด้วยการคำนวณจาก
               RER = 70 x [BW^0.75]

    RER = Resting energy requirement หรือ ความต้องการพลังงานขณะที่พัก/ไม่ได้ทำกิจกรรม หน่วย กิโลแคลอรี่ (kcal)

    BW = น้ำหนักสัตว์หน่วยกิโลกรัม (kg)

     

  2. คำนวณหาความต้องการพลังงานในแต่ละวัน หรือ Daily energy requirements (DER) หรือ Maintenance energy requirements (MER) คำนวณจาก
          MER = RER x Life stage factor

    MER = Maintenance energy requirements หรือ ความต้องการพลังงานในแต่ละวัน หน่วย กิโลแคลอรี่ (kcal)

    Life stage factor = ภาวะร่างกาย หรือกิจกรรม ณ ขณะนั้น

การปรับพลังงานที่ได้รับควรจะประเมินกับปัจจัยอื่นๆร่วมด้วย เช่น Body condition score (BCS) หรือ Muscle condition score (MCS) เป็นต้น หากเป็นสัตว์ที่เลี้ยงในบ้าน (สาย Slow life) ก็สามารถให้พลังงานน้อยกว่าที่ประเมินได้

การประเมินปัจจัยเกี่ยวกับภาวะโภชนาการ Life stage factor (แมว) Life stage factor (สุนัข)
สัตว์โตทำหมันแล้ว 1.2 - 1.4 1.4 - 1.6
สัตว์โตยังไม่ทำหมัน 1.4 - 1.6 1.6 - 1.8
สัตว์เด็ก 2.5 <4 เดือน : 3.0
>4 เดือน : 2.0
ช่วงตั้งท้อง 1.6 - 2.0 3.0 (ช่วงท้าย 21 วันของการตั้งท้อง)
ช่วงให้นมลูก (ขึ้นกับจำนวนลูก และเวลาในการให้นม) 2.0 - 6.0 3.0 - ≥ 6.0
ต้องการลดน้ำหนัก 0.8 1
สัตว์ไม่มี activity/มีแนวโน้มอ้วน 1 1.0 - 1.2
สัตว์ใช้งาน - ใช้งานเบา : 1.6 - 2.0
ใช้งานปานกลาง : 2.0 - 5.0
ใช้งานหนัก : 5.0 - 11.0

3. คำนวณปริมาณพลังงานที่ได้จากอาหารจากคุณค่าทางโภชนาการ (Guaranteed analysis) หรือ จากฉลากของอาหารสัตว์ ในหน่วย kcal/100g หรือ kcal/1000g

4. หาปริมาณปริมาณอาหารที่ต้องกินต่อวัน โดยคำนวณจาก
ปริมาณอาหารต่อวัน = [ความต้องการพลังงานในแต่ละวัน(ในข้อ 2) / พลังงานจากอาหาร (ในข้อ3)] x 100 หรือ 1,000 ขึ้นกับหน่วยพลังงานในอาหาร ถ้าหน่วยเป็น kcal/100g หรือ kcal/1000g ตามลำดับ

ตัวอย่างการคิดปริมาณอาหารสัตว์ที่ต้องกินในแต่ละวัน

  1. แม่แมวหนัก 4 กิโลกรัม กำลังอยู่ในช่วงให้นมลูกแมวทั้งหมด 4 ตัว พิจารณาในการให้อาหารสูตรแม่แมว ที่ให้พลังงาน 367 kcal/100g จะต้องให้ปริมาณอาหารที่เหมาะสมเท่าไรต่อวัน
    คำนวณปริมาณอาหารที่ต้องกินดังนี้
    RER = 70 x [BW(kg)^0.75] = 70 x[4^0.75] = 198 kcal
    เป็นแมวอยู่ในช่วงการในนมลูก โดยมีลูก 4 ตัว พิจารณาให้ค่า Life stage factor = 4
    MER = RER x Life stage factor = 198 x 4 = 792 kcal/day
    สรุป ปริมาณอาหารที่ต้องให้ต่อวัน = MER / พลังงานจากอาหาร = [792 / 367] x 100 = 215 g

  2. สุนัขทำหมันแล้ว น้ำหนัก 5 กิโลกรัม อายุ 3 ปี รูปร่างสมส่วน (BCS ~ 2.5/5) พิจารณาให้อาหารสุนัขโตทำหมันแล้ว ที่ให้พลังงาน 357 kcal/100g จะต้องให้ปริมาณอาหารที่เหมาะสมเท่าไรต่อวัน
    คำนวณปริมาณอาหารที่ต้องกินดังนี้
    RER = 70 x [BW(kg)^0.75] = 70 x[5^0.75] = 234 kcal
    เป็นสุนัขโตทำหมันแล้ว พิจารณาให้ค่า Life stage factor = 1.5
    MER = RER x Life stage factor = 234 x 1.5 = 351 kcal/day
    สรุป ปริมาณอาหารที่ต้องให้ต่อวัน = MER / พลังงานจากอาหาร = [351 / 357] x 100 = 98 g

  3. แมวเลี้ยงในบ้านทั่วไป ตัวผู้ หนัก 3 กิโลกรัม อายุ 2 ปี ยังไม่ทำหมัน ให้อาหารสูตร indoor ที่ให้พลังงาน 354 kcal/100g จะต้องให้ปริมาณอาหารที่เหมาะสมเท่าไรต่อวัน
    คำนวณปริมาณอาหารที่ต้องกินดังนี้
    RER = 70 x [BW(kg)^0.75] = 70 x[3^0.75] = 159 kcal
    เป็นแมวเลี้ยงในบ้านยังไม่ทำหมัน พิจารณาให้ค่า Life stage factor = 1.4
    MER = RER x Life stage factor = 159 x 1.4 = 239 kcal/day
    สรุป ปริมาณอาหารที่ต้องให้ต่อวัน = MER / พลังงานจากอาหาร = [223 / 354] x 100 = 63 g

ปริมาณที่คำนวณได้เป็นปริมาณที่ปรับเปลี่ยนได้ขึ้นอยู่กับสัตว์ในแต่ละตัว การเฝ้าติดตามเพื่อปรับเพิ่ม/ลด จึงมีความสำคัญ นอกจากนี้การเลือกสูตรอาหารให้เหมาะสมกับสภาวะก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน

อาหารสุนัขและแมวแต่ละยี่ห้อ แต่ละชนิดมีพลังงานเท่าไร

วิธีคำนวณว่าอาหารสุนัขและแมวแต่ละชนิดมีพลังงานเท่าไร

วิธีคิดปริมาณพลังงานของอาหารสัตว์ จากคุณค่าทางโภชนาการ

เราสามารถดูพลังงานที่ได้จากอาหารสุนัขหรือแมวจากฉลากสินค้าได้โดยตรงไม่ว่าจะเป็นอาหารเม็ด หรืออาหารเปียก แต่หากถ้าฉลากสินค้าไม่ระบุปริมาณพลังงานเราสามารถ คำนวณปริมาณพลังงานที่ได้จากอาหารสัตว์จากคุณค่าทางโภชนาการได้ (Guaranteed analysis) โดยคำนวณจาก

Metabolizable Energy (ME) = [(3.5 x Crude protein) + (8.5 x Crude fat) + (3.5 x Nitrogen-free extract)] x 10

Nitrogen-Free Extract = 100 – (Crude protein + Crude fat + Crude fiber + Moisture + Ash)

ME = พลังงานของอาหารสุนัขและแมวในหน่วย กิโลแคลอรี่ (kcal) ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม (kg)

Crude protein = % โปรตีน

Crude fat = % ไขมัน

Crude fiber = % ไฟเบอร์ หรือกากใย

Moisture = % ความชื้น

Ash = % เถ้าประกอบด้วยไวตามินและแร่ธาตุ เป็นอีกส่วนหนึ่งที่มักไม่ได้ระบุไว้ของอาหารแห้งและอาหารเปียก โดยทั่วไปเถ้าในอาหารเม็ดสำเร็จรูปจะอยู่ระหว่าง 5-9 % และอาหารกระป๋องหรือซองจะอยู่ที่ 0.8-1.4 %

ตัวอย่างการคิดปริมาณพลังงานในอาหารสัตว์

  1. อาหารแมวสูตรแม่แมวและลูกแมว มีโปรตีนไม่น้อยกว่า 35%, ไขมันไม่น้อยกว่า 18%, ไฟเบอร์ไม่มากกว่า 4%, ความชื้นไม่มากกว่า 10% (ให้Ashอยู่ที่ 7 %)
    คำนวณปริมาณพลังงานในอาหารได้ดังนี้
    Nitrogen-Free Extract = 100 – (35 + 18 + 4 + 10 + 7) = 26
    Metabolizable Energy (ME) = [(3.5 x 35) + (8.5 x 18) + (3.5 x 26)] x 10 =3,665 kcal/1000g
    สรุป พลังงานจากอาหารที่ได้รับคือ 3,665 kcal/1000g หรือ 367 kcal/100g

  2. อาหารเปียกแมว มีโปรตีนไม่น้อยกว่า 6.5%, ไขมันไม่น้อยกว่า 0.018%, ไฟเบอร์ไม่มากกว่า 0.1%, ความชื้นไม่มากกว่า 90% (ให้Ashอยู่ที่ 1 %)
    คำนวณปริมาณพลังงานในอาหารได้ดังนี้
    Nitrogen-Free Extract = 100 – (6.5 + 0.018 + 0.1 + 90 + 1) = 2.382
    Metabolizable Energy (ME) = [(3.5 x 6.5) + (8.5 x 0.018) + (3.5 x 2.382)] x 10 =312 kcal/1000g
    สรุป พลังงานจากอาหารที่ได้รับคือ 312 kcal/1000g หรือ 31.2 kcal/100g

  3. ขนมแมวเลีย มีโปรตีนไม่น้อยกว่า 6%, ไขมันไม่น้อยกว่า 0.1%, ไฟเบอร์ไม่มากกว่า 1%, ความชื้นไม่มากกว่า 90% (ให้Ashอยู่ที่ 1 %)
    คำนวณปริมาณพลังงานในอาหารได้ดังนี้

    Nitrogen-Free Extract = 100 – (6 + 0.1 + 1 + 90 + 1) = 1.9

    Metabolizable Energy (ME) = [(3.5 x 6) + (8.5 x 0.1) + (3.5 x 1.9)] x 10 =285 kcal/1000g

    สรุป พลังงานจากอาหารที่ได้รับคือ 285 kcal/1000g หรือ 28.5 kcal/100g

  4. อาหารสุนัขโต มีโปรตีนไม่น้อยกว่า 28%, ไขมันไม่น้อยกว่า 20%, ไฟเบอร์ไม่มากกว่า 2%, ความชื้นไม่มากกว่า 11% (ให้Ashอยู่ที่ 7 %)
    คำนวณปริมาณพลังงานในอาหารได้ดังนี้
    Nitrogen-Free Extract = 100 – (28 + 20 + 2 + 11 + 7) = 32
    Metabolizable Energy (ME) = [(3.5 x 28) + (8.5 x 20) + (3.5 x 32)] x 10 =3,800 kcal/1000g
    สรุป พลังงานจากอาหารที่ได้รับคือ 3,800 kcal/1000g หรือ 380 kcal/100g

พลังงานที่คำนวณได้อาจจะมีความคลาดเคลื่อนได้เล็กน้อยจากปัจจัยวัตถุดิบที่เปลี่ยนไปในการผลิต แต่ก็สามารถนำไปใช้เพื่อประเมินปริมาณการกินได้

ควรให้อาหารแมวและสุนัขวันละกี่ครั้ง

ควรให้อาหารแมวและสุนัขวันละกี่ครั้ง คำนวณจากความจุกระเพาะต่ออาหาร 1 มื้อ

จำนวนครั้งที่เหมาะสมในการให้อาหารสุนัข แมว หรือสัตว์อื่นๆ ขึ้นกับธรรมชาติรูปแบบการกินของสัตว์แต่ละชนิด และสัตว์แต่ละตัวก็มีนิสัยการกินที่แตกต่างกันได้บ้าง หรือแม้กระทั้งเรื่องความสะดวกในการให้อาหารของเจ้าของสัตว์เองก็นำมาพิจารณาได้ โดยแมวอาจจะให้น้อยๆแต่บ่อยครั้ง หรือสุนัขก็ให้เป็นมื้อวันละ 2-3 มื้อ หรือแม้กระทั้งให้กินแบบบุฟเฟ่เทอาหารไว้ให้กินทั้งวันก็สามารถทำได้

ในการให้อาหารเป็นมื้อ จะคำนวณจากความจุของกระเพาะสัตว์ (Stomach size) โดยในสุนัขและแมวจะเป็นดังนี้

Status ความจุกระเพาะ (Stomach size)
ต้องการ Re-feeding
5 - 10 ml*/kg BW
ภาวะปกติทั่วไป
20 - 40 ml*/kg BW
ความจุสูงสุด
45 - 90 ml*/kg BW

*1 ml = 1 g
ที่มา : Small Animal Clinical Nutrition, 5th Edition

ตัวอย่างการคำนวณปริมาณการให้อาหารสุนัขและแมวต่อมื้อ

  1. สุนัขอายุ 1 ปี น้ำหนัก 7 กิโลกรัม คำนวณการกินอาหารได้วันละ 125 กรัมต่อวัน สามารถแบ่งการให้อาหารได้ดังนี้
    คำนวณความจุกระเพาะ
    ให้ความจุกระเพาะที่ 20 ml/kg BW (ปกติ 20 – 40ml/kg BW) = 20 x 7 = 140 ml หรือ g ต่อมื้อ
    สรุป สามารถแบ่งทานเป็นมื้อได้ตามความเหมาะสม หรือให้กินได้วันละ 125 g ได้เลย 1 มื้อต่อวัน เพราะความจุกระเพาะต่อการให้อาหาร 1 ครั้งอยู่ที่ 140 ซึ่งมากกว่าปริมาณอาหารที่ต้องให้ต่อวัน ทั้งนี้จะต้องปรับปริมาณอาหารตามภาวะของสัตว์ ณ ขณะนั้นด้วย

  2. ลูกแมวหนัก 230 กรัม ต้องการผสมนมชง KMR สำหรับลูกแมว โดยคำนวณปริมาณการในนมได้ 60 ml สามารถแบ่งการให้นมตามจำนวนครั้งได้ดังนี้
    คำนวณความจุกระเพาะ
    ให้ความจุกระเพาะที่ 40 ml/kg BW (ปกติ 20 – 40ml/kg BW)= 40 x 0.23 = 9.2 ml หรือ g ต่อมื้อ
    สรุป แบ่งการให้นมได้ทั้งหมด 60 / 9.2 = 6.6 หรือ 7 ครั้ง อาจจะให้ครั้งละ 8.5 ml ใน 1 วัน หรืออาจจะให้ 8 ครั้ง ทุกๆ 3 ชั่วโมงก็ได้ขึ้นอยู่กับภาวะของสัตว์ ณ ขณะนั้นด้วย

คำแนะนำเพิ่มเติม

การคำนวณปริมาณอาหารสุนัขและแมวที่ถูกต้องช่วยให้สัตว์เลี้ยงของคุณได้รับสารอาหารครบถ้วน สุขภาพดีไม่มีโรครุมเร้า และทำให้เจ้าตัวน้อยสามารถอยู่กับเราได้นานๆ

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องอื่นๆเพิ่มเติม:

คำนวนปริมาณยาในสัตว์ (Animal drug calculation)

คำนวณการให้น้ำเกลือในสัตว์ (Crystalloid fluid calculation)

คำนวณการให้ยาผสมในสารน้ำในสัตว์ (Constant rate infusion)

ติดต่อสอบถาม
Writer:teenalytic
Share
Share
Share
Share
Print