การให้อาหารสุนัขแบบถูกวิธี มีหลักการอย่างไร

เพราะอาหารเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นลำดับต้นๆของการเลี้ยงสุนัข ที่เจ้าของสุนัขต้องให้ความใส่ใจ เพื่อรักษาสุขภาพสุนัขให้แข็งแรงอยู่กับเราไปนานๆ

แนะนำหลักการเลือกให้อาหารสุนัขอย่างถูกต้อง เพราะอาหารที่เหมาะสมเป็นปัจจัยที่เจ้าของสุนัขต้องให้ความใส่ใจอย่างมาก เพื่อให้สุนัขแข็งแรงอยู่กับเราไปนานๆ

บทความนี้จะกล่าวถึงรายละเอียดสำคัญของการให้อาหารสุนัขอย่างถูกต้อง ตั้งแต่การทำความเข้าใจเรื่องความต้องการทางโภชนาการของสุนัข ไปจนถึงการเลือกอาหารที่เหมาะสม และการวางแผนการให้อาหาร เพื่อให้ตรงตามความต้องการของสุนัขแต่ละตัว นอกจากนี้ เรายังจะพูดถึงข้อผิดพลาดที่พบบ่อยในการให้อาหารสุนัข และให้คำแนะนำเพื่อให้สุนัขของคุณมีสุขภาพแข็งแรง หากต้องการคำนวณปริมาณของอาหารสุนัขที่ต้องกินต่อวัน ก็สามารถคำนวณง่ายๆด้วยตัวเอง

เลือกเนื้อหาที่ต้องการอ่าน

ทำไมโภชนาการที่ถูกต้องสำหรับสุนัขจึงสำคัญ

การให้อาหารสุนัขอย่างเหมาะสม และได้รับสารอาหารครบถ้วนตามมาตรฐาน เช่น มาตรฐาน AAFCO นั้นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เช่นเดียวกับมนุษย์ สุนัขต้องได้รับอาหารที่เหมาะสมกับวัย เหมาะสมตามสภาวะของร่างกาย การที่มีโภชนาการที่ดีจะช่วยให้มีสุขภาพแข็งแรง และยังสามารถช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพต่างๆ ได้อีกด้วย

ความต้องการทางโภชนาการของสุนัข

โภชนาการที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญ สุนัขมีความต้องการของอาหารที่แตกต่างจากทั้งคน และแมว การเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติปกติของสุนัขมีความสำคัญ โดยสุนัขเป็นสัตว์ที่กินทั้งพืชและเนื้อ (Omnivores) ทำให้ระบบการย่อยสลายคาร์โบไฮเดรต หรือย่อยสลายไฟเบอร์ของพืชทำได้ดีกว่าแมวที่เป็น สัตว์กินเนื้อ (Carnivores)

โปรตีน (Proteins)

มีความสำคัญต่อการสร้างและซ่อมแซมเนื้อเยื่อ รวมถึงการทำงานของอวัยวะต่างๆ โดยกรดอะมิโนที่สำคัญสำหรับสุนัข 10 ชนิดได้แก่

  • อาร์จินีน (Arginine) : ช่วยในขบวนการกำจัดแอมโมเนีย และขับของเสียออกจากร่างกาย
  • ไอโซลิวซีน (Isoleucine) : ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
  • ลิวซีน (Leucine) : จำเป็นในการสังเคราะห์โปรตีน และเป็นแหล่งพลังงาน
  • ไลซีน (Lysine) : จำเป็นในการสังเคราะห์โปรตีน และเป็นแหล่งพลังงาน
  • ทรีโอนีน (Threonine) : จำเป็นในขบวนการเผาพลาญ (Metabolism)
  • ทริปโตเฟน (Tryptophan) : ใช้ในการสร้างเมลาโทนินและเซโรโทนิน ควบคุมพฤติกรรม การนอนหลับ และความหิว
  • วาลีน (Valine) : จำเป็นสำหรับการสังเคราะห์โปรตีน และเป็นแหล่งพลังงาน
  • ฮิสทิดีน (Histidine) : ช่วยสนับสนุนการทำงานของ Histamine ในการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน ช่วยในการพัฒนาและซ่อมแซมเนื้อเยื่อต่างๆ
  • เมทไธโอนีน (Methionine) : ควบคุมการเผาผลาญ ระบบย่อยอาหาร และระบบภูมิคุ้มกัน
  • ฟีนิลอะลานีน (Phenylalanine) : ช่วยผลิตเมลานินและสารเคมีในระบบประสาท

ตามมาตรฐานของ AAFCO แนะนำอาหารเม็ดต้องมีโปรตีนไม่ต่ำกว่า 22% สำหรับช่วงเจริญเติบโต และไม่ต่ำกว่า 18% สำหรับสุนัขโต และวิจัยปัจจุบันเผยว่าไม่เกิน 30% เพราะการได้รับโปรตีนมากเกินไปก็อาจเกิดผลเสียตามมาได้

ไขมัน (Fats)

สุนัขต้องการไขมันในอาหารเพื่อเป็นแหล่งพลังงาน ช่วยในการรักษาความร้อนให้ร่างกาย และการดูดซึมวิตามินที่จำเป็น

  • กรดไขมัน Omega 3 และ Omega 6 เป็นส่วนประกอบสำคัญในอาหารสุนัข ช่วยเรื่องผิวหนังและคุณภาพขน ฟื้นฟูบาดแผล และช่วยลดอาการอักเสบ

คาร์โบไฮเดรต (Carbohydrates)

หนึ่งในเหตุผลที่สำคัญที่สุดของคาร์โบไฮเดรตที่จำเป็นต้องมีในอาหารสุนัข คือเป็นแหล่งพลังงานหลัก และเป็นแหล่งใยอาหารหลัก หากไม่มีคาร์โบไฮเดรตจะดึงกรดอะมิโนที่จำเป็นออกจากกระบวนการอื่นๆ ในร่างกายเพื่อมาเป็นพลังงานแทน โดยวัตถุดิบที่สำคัญในอาหารเม็ดที่พบได้บ่อยคือ ข้าวโพด ข้าวสาลี ขาวบาร์เลย์ และข้าวโอ๊ต เป็นต้น

วิตามิน (Vitamins)

มีหน้าที่สำคัญต่อการทำงานในขบวนการต่างๆของร่างกายสุนัข โดยอาหารสำเร็จรูปที่ได้มาตรฐานมักมีการเสริมปริมาณวิตามินให้เพียงพอต่อความต้องการสุนัขในแต่ละวันอย่างครบถ้วนอยู่แล้ว

  • Vitamin A/ Retinol : จำเป็นสำหรับการมองเห็น การเจริญเติบโตของกระดูกและฟัน ระบบสืบพันธุ์ และสุขภาพของผิวหนัง
  • Vitamin D/ Calciferol : สนับสนุนการเจริญเติบโตของกระดูก
  • Vitamin E/ Tocopherol : ช่วยในการต้านอนุมูลอิสระ
  • Vitamin K : จำเป็นสำหรับขบวนการแข็งตัวของเลือด
  • Vitamin B12/ Cobalamin : จำเป็นต่อระบบประสาท การเผาผลาญไขมัน และคาร์โบไฮเดรต
  • Vitamin B1/ Thiamin : สำคัญในการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต
  • Vitamin B2/ Riboflavin : ช่วยในการสร้างพลังงานจากคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีน
  • Vitamin B3/ Niacin : จำเป็นในขบวนการย่อยไขมัน โปรตีน และคาร์โบไฮเดรต
  • Vitamin B5/ Pantothenic acid : จำเป็นสำหรับการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และกรดอะมิโนบางชนิด
  • Vitamin B6/ Pyridoxine : ช่วยเผาผลาญกรดอะมิโน น้ำตาลกลูโคส และกรดไขมัน
  • Vitamin B7/ Biotin : สร้างดีเอ็นเอ/อาร์เอ็นเอ ช่วยผลิตกรดไขมัน และกรดอะมิโนบางชนิด
  • Vitamin B9/ Folic acid : ต้องใช้สำหรับการสังเคราะห์ดีเอ็นเอ และการเผาผลาญเมทไธโอนีน (กรดอะมิโน)
  • Choline : จำเป็นในการขนส่งไขมันในร่างกาย เป็นส่วนประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์ และสร้างสารสื่อประสาท

แร่ธาตุ (Minerals)

แร่ธาตุมีความจำเป็นในการช่วยให้ร่างกายทำงานได้ปกติ

  • Calcium: เสริมสร้างกระดูกและฟันที่แข็งแรง
  • Phosphorus: องค์ประกอบของกระดูก ฟัน มีความสำคัญต่อการใช้พลังงานของเซลล์ การสร้างกรดอะมิโน และโปรตีนในร่างกาย
  • Magnesium: รักษาสมดุลการทำงานของเอนไซม์ การเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน
  • Potassium: สำคัญสำหรับการทำงานของประสาท การหดตัวของกล้ามเนื้อ และจังหวะการเต้นของหัวใจ
  • Sodium and Chloride: ช่วยในการรักษาสมดุลน้ำ นำส่งกระแสประสาท รักษาสมดุลระหว่างกรดและเบส (Acid-base balance) และการหดตัวของกล้ามเนื้อ
  • Iron: จำเป็นสำหรับการขนส่งออกซิเจนไปทั่วร่างกาย
  • Zinc: จำเป็นสำหรับการเผาผลาญสารอาหาร
  • Iodine: เป็นส่วนประกอบของฮอร์โมน Thyroid
  • Manganese: ทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ นอกจากนี้ยังมีความสำคัญต่อขบวนการเผาผลาญ เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และการเจริญเติบโตของกระดูก
  • Copper: ช่วยในการดูดซึมและขนส่งธาตุเหล็ก การเกิดสีผิว และการเจริญเติบโตของกระดูก
  • Selenium: เป็นสารต้านอนุมูลอิสระทำงานร่วมกับวิตามินอี

การเลือกอาหารสุนัขที่เหมาะสม

ในท้องตลาดมีอาหารสุนัขให้เลือกหลากหลายชนิด ทำให้การตัดสินใจเลือกอาหารเป็นเรื่องยาก แต่เราสามารถจำแนกชนิดของอาหารสุนัขออกได้ทั้งหมด 4 ประเภท

  • อาหารเม็ด: อาหารเม็ดแต่ละยี่ห้อในท้องตลาด จะต้องผ่านมาตรฐานการผลิต และมีโภชนาการครบถ้วน เป็นชนิดอาหารที่สะดวกต่อการให้ มีรูปแบบโภชนาการที่หลากหลายแตกต่างกันไปตามอายุ สถานะร่างกาย และสุขภาพของสุนัข โดยในประเทศไทยจะแบ่งเกรดอาหารตามคุณภาพวัตถุดิบที่ใช้ทำ หลักๆจะมี 4 เกรด ได้แก่

    1. ไม่สามารถระบุเกรดได้ (Non-grade)

    2. เกรดตลาด (Commercial grade)

    3. เกรดพรีเมียม (Premium grade)

    4. เกรดโฮลิสติก (Holistic grade)

  • อาหารเปียก: มีความน่ากิน และมีส่วนประกอบของน้ำมากกว่าอาหารเม็ด จึงเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับสุนัขที่มีปัญหาทางเดินปัสสาวะ สุนัขที่กินน้ำน้อย หรือสุนัขที่ทานยาก โดยในประเทศไทยสามารถแบ่งได้หลากหลายยี่ห้อ หลากหลายวัตถุดิบ หรือหลากหลายรูปแบบของอาหารเปียก เช่น น้ำเกรวี่ สตูว์ เจลลี่ และ Loaf เป็นต้น

  • อาหารดิบ หรือ BARF : ประกอบด้วยเนื้อ อวัยวะสัตว์ดิบ และกระดูกสัตว์ และอาจจะเสริมผัก พืชต่างๆ หรืออาหารเม็ดเข้าไปบ้าง บางคนอาจนิยมให้อาหารประเภทนี้ เพราะเป็นการเลียนแบบการกินอาหารตามธรรมชาติของสัตว์ ทำให้สัตว์มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ข้อควรระวังคืออาจมีความเสี่ยงจากการปนเปื้อนแบคทีเรีย เช่น Salmonella และ E.coli แล้วทำให้สัตว์ท้องเสีย หรือเจ็บป่วยรุนแรงได้ จึงจำเป็นต้องซื้อจากผู้ผลิตที่น่าเชื่อถือ

  • อาหารที่ปรุงเอง: แม้จะควบคุมส่วนผสมได้เอง และผ่านขบวนการที่ทำให้สูญเสียคุณค่าทางอาหารน้อย (Minimally processed food) แต่ต้องใช้การศึกษาและความเชี่ยวชาญอย่างมากเพื่อให้แน่ใจว่ามีสารอาหารครบถ้วน และสมดุล จึงแนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการสัตว์เลี้ยงในการปรุงให้กินเอง

การวางแผนการให้อาหารเฉพาะตัว ตามความต้องการของสุนัข

แผนการให้อาหารที่ดีที่สุดสำหรับสุนัขของคุณจะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ดังนี้:

  • อายุ: ลูกสุนัขมีความต้องการทางโภชนาการที่แตกต่างจากสุนัขโต
  • น้ำหนัก: สุนัขของคุณมีน้ำหนักเกิน หรือน้ำหนักน้อยกว่ามาตรฐาน
  • สถานะสุขภาพ: สุนัขที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคผิวหนัง โรคหัวใจ โรคทางเดินอาหาร อาจต้องปรับเปลี่ยนอาหารตามคำแนะนำ
  • ระดับกิจกรรม: สุนัขที่มีกิจกรรมมากอาจต้องการแคลอรี่สูงขึ้นเพื่อใช้เป็นพลังงาน

สถานะ/โรคแนวทางการให้อาหารข้อควรระวัง
สุนัขตั้งท้อง/ให้นมลูก

อาหารสูตรสำหรับสุนัขตั้งท้อง/ให้นมลูก

ให้กินอาหารปริมาณมากขึ้น

ควรเลือกอาหารที่มีโปรตีน ไขมัน และแร่ธาตุสูง

ไม่ควรให้กินอาหารสุนัขโต พลังงานที่ต้องได้รับขึ้นกับจำนวนลูก
ลูกสุนัข (อายุ 0-1 ปี)

อาหารสูตรสำหรับลูกสุนัข-สุนัขเด็ก

ควรเลือกอาหารที่มีโปรตีนและไขมันสูงเพื่อช่วยในการเจริญเติบโต

ไม่ควรให้กินอาหารสุนัขโต
สุนัขโต (อายุ 1 ปีขึ้นไป)

อาหารสูตรสำหรับสุนัขโต

ให้กินอาหาร 1-2 มื้อต่อวัน

ควรเลือกอาหารที่มีโปรตีนและไขมันปริมาณเหมาะสม

ควรเลือกอาหารที่เหมาะกับสายพันธุ์และระดับกิจกรรมของสุนัข
สุนัขแก่ (อายุ 7 ปีขึ้นไป)

อาหารสูตรสำหรับสุนัขแก่

ให้กินอาหาร 1-2 มื้อต่อวัน

ควรเลือกอาหารที่มีโปรตีน ไขมัน และแร่ธาตุปริมาณเหมาะสม

ต้องปรับอาหารให้เหมาะกับโรคประจำวัย
แพ้อาหาร

อาหารสุนัขสูตรแพ้อาหารโดยเฉพาะ

ควรเลือกอาหารที่ไม่มีส่วนผสมของโปรตีนหรือคาร์โบไฮเดรตที่สุนัขแพ้

อาจต้องทดลองอาหารหลายชนิดเพื่อหาอาหารที่เหมาะสม

ควรปรึกษาสัตวแพทย์ ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดอาการแพ้
โรคผิวหนังอักเสบ (ไม่เกี่ยวกับอาหาร)

อาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 และ 6 สูง

อาจเสริมวิตามิน A และ E

อาจต้องเสริมวิตามินตามคำแนะนำของสัตวแพทย์
โรคข้อเสื่อม

อาหารเสริมกลูโคซามีน และคอนดรอยติน

อาจเสริมโอเมก้า 3 อาหารพลังงานต่ำ โปรตีนสูง

ควรควบคุมน้ำหนักให้คงที่
โรคไต (CKD)

อาหารฟอสฟอรัสต่ำ โปรตีนต่ำ โซเดียมต่ำ

ควรเลือกอาหารที่มีโปรตีนคุณภาพสูง

ควรปรึกษาสัตวแพทย์ ควรให้ดื่มน้ำสะอาดเพียงพอ
โรคหัวใจ

ควรเลือกอาหารที่มีโปรตีนคุณภาพสูง

อาหารโซเดียมต่ำ

ควรปรึกษาสัตวแพทย์
โรคตับ

ควรเลือกอาหารที่มีโปรตีนคุณภาพสูง โปรตีนต่ำ (Encephalophathic) โปรตีนปานกลาง (Nonencephalopathic)

พิจารนาเสริม Vitamin B12

ควรปรึกษาสัตวแพทย์ ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารพิษต่อตับ ควรให้กินอาหารหลายมื้อเล็กๆ
โรคตับอ่อนอักเสบ อาหารไขมันต่ำ โปรตีนสูง ควบคุมน้ำตาลในเลือด เสริมเอนไซม์ตับอ่อน
โรคระบบทางเดินอาหาร

อาเจียน/ท้องเสีย: อาหารย่อยง่าย

ลำไส้อักเสบเรื้อรัง: อาหารไขมันต่ำ อาหารสูตรเฉพาะโรคทางเดินอาหาร

ควรปรึกษาสัตวแพทย์ ควรหลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง ระวังภาวะขาดน้ำ
ภาวะนิ่ว อาหารสูตรเฉพาะสำหรับชนิดของนิ่วเพื่อปรับ pH ปัสสาวะ ควรปรึกษาสัตวแพทย์ ระวังการติดเชื้อ
โรคอ้วน

อาหารพลังงานต่ำ โปรตีนสูง

ควรเลือกอาหารที่เหมาะกับระดับกิจกรรมของสุนัข ควรให้กินอาหารปริมาณน้อยลง

ควรเพิ่มการออกกำลังกาย

ควรควบคุมน้ำหนักให้คงที่ คำนวณพลังงานเพื่อคุมน้ำหนัก
ป่วยวิกฤตหรือพักฟื้นหลังผ่าตัด ไขมันสูง พลังงานสูง ย่อยง่าย ป้อนด้วยกระบอกฉีดยาง่าย ควรปรึกษาสัตวแพทย์

หมายเหตุ:

  • ตารางนี้เป็นเพียงแนวทางทั่วไปเท่านั้น ควรปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสมกับสัตว์เลี้ยง เพื่อจะได้วางแผนการเลือกอาหารตามโรคที่สัตว์เป็น

ข้อผิดพลาดในการให้อาหารสุนัขที่พบได้บ่อย

ข้อผิดพลาดเหล่านี้พบบ่อยและอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของสุนัข:

  • การให้อาหารมากเกินไป: การให้อาหารมากเกินไปอาจนำไปสู่ภาวะอ้วน ซึ่งสุนัขอ้วนมีความเสี่ยงในการเกิดโรคเกี่ยวกับโรคกระดูกและข้อต่อสูง โดยเฉพาะสุนัขพันธุ์ใหญ่
  • ให้ขนมมากเกินไป: ขนมสามารถให้เพื่อเป็นรางวัลแก่สุนัขได้ แต่ควรให้อย่างพอดี การให้ขนมมากเกินไปอาจทำให้ได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอจากอาหารมื้อหลักได้
  • ให้กินอาหารคนหรือเศษอาหาร (Table food): เศษอาหารอาจเป็นอันตรายต่อสุนัข เนื่องจากมักมีเกลือ ไขมัน และส่วนผสมอื่นๆ ที่แมวไม่เหมาะสมกับแมว นอกจากนี้อาหารที่คนกินได้บางประเภทก็อาจจะเป็นพิษต่อสุนัขได้ เช่น หัวหอม ชอคโกแลต อโวคาโด สารแทนความหวาน องุ่น เป็นต้น
  • การเปลี่ยนอาหารทันที: การเปลี่ยนอาหารอย่างกะทันหันอาจทำให้ระบบย่อยอาหารของสุนัขผิดปกติ หากจำเป็นต้องเปลี่ยนอาหาร ควรค่อยๆ ปรับเปลี่ยนโดยผสมอาหารชนิดใหม่เพิ่มเข้าไปทีละน้อย
  • กินอาหารแมว: ส่วนผสมหลายอย่างมีความคล้ายกับอาหารสุนัข นอกจากนี้ยังน่ากินกว่าอาหารสุนัขเพราะมีโปรตีนที่สูงกว่า ถ้าบังเอิญให้หรือให้ผิดไม่กี่ครั้ง ก็จะไม่เป็นอันตรายมาก แต่ถ้าให้ไปนานๆจะได้รับพลังงาน โปรตีน และไขมันที่มากเกินความจำเป็น ทำให้อ้วนง่ายขึ้น และโน้มนำให้เกิดตับอ่อนอักเสบตามมาให้อนาคตได้

สิ่งสำคัญที่ควรพิจารณานอกเหนือจากอาหาร

  • การเข้าถึงน้ำสะอาด: สุนัขต้องการน้ำดื่มที่สะอาดตลอดเวลา
  • ความถี่ในการให้อาหาร: สุนัขสามารถให้อาหารเป็นมื้อได้วันละ 1-2 มื้อ แต่สิ่งที่อยากให้พิจารณาเป็นหลักคือสูตรอาหารที่กิน และปริมาณที่ควรจะต้องกินโดยรวมต่อวันต้องมีความเหมาะสม

การเลือกอาหารที่เหมาะสม และวางแผนการให้อาหารเฉพาะตัว จะสามารถให้โภชนาการที่สุนัขของคุณต้องการสำหรับการมีสุขภาพที่ดีและอายุยืนยาว อย่าลืมปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเฉพาะ และรับการดูแลหากมีปัญหาสุขภาพ

ติดต่อสอบถาม
Writer:teenalytic
Share
Share
Share
Share
Print