การให้อาหารแมวอย่างถูกวิธี มีหลักการอย่างไร
เพราะอาหารเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นลำดับต้นๆของการเลี้ยงแมว ที่เจ้าของแมวต้องให้ความใส่ใจ เพื่อรักษาสุขภาพแมวให้แข็งแรงอยู่กับเราไปนานๆ
บทความนี้จะกล่าวถึงรายละเอียดสำคัญของการให้อาหารแมวอย่างถูกต้อง ตั้งแต่การทำความเข้าใจ เรื่องความต้องการทางโภชนาการของแมว ไปจนถึงการเลือกอาหารที่เหมาะสม และการวางแผนการให้อาหาร เพื่อให้ตรงตามความต้องการของแมวแต่ละตัว นอกจากนี้ เรายังจะพูดถึงข้อผิดพลาดที่พบบ่อยในการให้อาหารแมว และให้คำแนะนำเพื่อให้แมวของคุณมีสุขภาพแข็งแรง หากต้องการคำนวณปริมาณของอาหารแมวที่ต้องกินต่อวัน ก็สามารถคำนวณง่ายๆด้วยตัวเอง
เลือกเนื้อหาที่ต้องการอ่าน
ทำไมโภชนาการที่ถูกต้องสำหรับแมวจึงสำคัญ
การให้อาหารแมวอย่างเหมาะสม และได้รับสารอาหารครบถ้วนตามมาตรฐาน เช่น มาตรฐาน AAFCO นั้นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เช่นเดียวกับมนุษย์ แมวต้องได้รับอาหารที่เหมาะสมกับวัย เหมาะสมตามสภาวะของร่างกาย การที่มีโภชนาการที่ดีจะช่วยให้มีสุขภาพแข็งแรง และยังสามารถช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพต่างๆ ได้อีกด้วย
ความต้องการทางโภชนาการของแมว
โภชนาการที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญ แมวมีความต้องการทางอาหารที่แตกต่างจากทั้งคน และสุนัข (แมวไม่ใช่สุนัขตัวเล็ก) การเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของแมวจึงมีความสำคัญ เพราะแมวเป็นสัตว์กินเนื้อ (Carnivore) ทำให้คุณภาพ และปริมาณของโปรตีนจึงเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาอย่างดี
โปรตีน (Proteins)
มีความสำคัญต่อการสร้างและซ่อมแซมเนื้อเยื่อ รวมถึงการทำงานของอวัยวะต่างๆ โดยกรดอะมิโนที่สำคัญสำหรับแมว 11 ชนิดได้แก่
- ทอรีน (Taurine) : แมวไม่สามารถสร้างได้เอง จึงจำเป็นต้องได้รับจากอาหาร กรดอะมิโนชนิดนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสุขภาพหัวใจ การมองเห็น และสมอง
- อาร์จินีน (Arginine) : ช่วยในขบวนการกำจัดแอมโมเนีย และขับของเสียออกจากร่างกาย
- ไอโซลิวซีน (Isoleucine) : ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
- ลิวซีน (Leucine) : จำเป็นในการสังเคราะห์โปรตีน และเป็นแหล่งพลังงาน
- ไลซีน (Lysine) : จำเป็นในการสังเคราะห์โปรตีน และเป็นแหล่งพลังงาน
- ทรีโอนีน (Threonine) : จำเป็นในขบวนการเผาพลาญ (Metabolism)
- ทริปโตเฟน (Tryptophan) : ใช้ในการสร้างเมลาโทนินและเซโรโทนิน ควบคุมพฤติกรรม การนอนหลับ และความหิว
- วาลีน (Valine) : จำเป็นสำหรับการสังเคราะห์โปรตีน และเป็นแหล่งพลังงาน
- ฮิสทิดีน (Histidine) : ช่วยสนับสนุนการทำงานของ Histamine ในการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน ช่วยในการพัฒนาและซ่อมแซมเนื้อเยื่อต่างๆ
- เมทไธโอนีน (Methionine) : ควบคุมการเผาผลาญ ระบบย่อยอาหาร และระบบภูมิคุ้มกัน
- ฟีนิลอะลานีน (Phenylalanine) : ช่วยผลิตเมลานินและสารเคมีในระบบประสาท
ตามมาตรฐานของ AAFCO แนะนำอาหารเม็ดต้องมีโปรตีนไม่ต่ำกว่า 30% สำหรับช่วงเจริญเติบโต และไม่ต่ำกว่า 26% สำหรับแมวโต
ไขมัน (Fats)
แมวต้องการไขมันในอาหารเพื่อเป็นแหล่งพลังงาน ช่วยในการรักษาความร้อน และช่วยดูดซึมวิตามินที่จำเป็น อย่างไรก็ตาม ควรเลือกอาหารที่มีปริมาณไขมันปานกลางเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้น้ำหนักมากเกิน
- กรดไขมัน Omega 3 และ Omega 6 เป็นส่วนประกอบสำคัญในอาหารแมว ช่วยเรื่องผิวหนังและคุณภาพขน ฟื้นฟูบาดแผล และช่วยลดอาการอักเสบ
คาร์โบไฮเดรต (Carbohydrates)
สำหรับสัตว์หลายชนิด คาร์โบไฮเดรตเป็นแหล่งพลังงานสำคัญ แต่ไม่ได้มีบทบาทมากสำหรับแมว เนื่องจากแมวปรับตัวให้ได้รับพลังงานจากโปรตีนและไขมันเป็นหลัก ซึ่งคาร์โบไฮเดรตในปริมาณไม่มากแมวสามารถย่อยเพื่อนำไปใช้เป็นพลังงานได้ แต่ถ้ามีมากเกินอาจทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน และมีความเสี่ยงต่อปัญหาข้อต่อเสื่อมในแมว
วิตามิน (Vitamins)
มีหน้าที่สำคัญต่อการทำงานของอวัยวะและขบวนการต่างๆ แมวไม่สามารถสร้างวิตามินบางชนิดได้เพียงพอ เช่น ไนอะซิน วิตามินเอ และวิตามินดี แมวจึงต้องได้รับวิตามินเหล่านี้จากเนื้อสัตว์ ซึ่งเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่โปรตีนจากสัตว์มีความสำคัญสำหรับแมว
- Vitamin A/ Retinol : จำเป็นสำหรับการมองเห็น การเจริญเติบโตของกระดูกและฟัน ระบบสืบพันธุ์ และสุขภาพของผิวหนัง
- Vitamin D/ Calciferol : สนับสนุนการเจริญเติบโตของกระดูก
- Vitamin E/ Tocopherol : ช่วยในการต้านอนุมูลอิสระ
- Vitamin K : จำเป็นสำหรับขบวนการแข็งตัวของเลือด
- Vitamin B12/ Cobalamin ****: จำเป็นต่อระบบประสาท การเผาผลาญไขมัน และคาร์โบไฮเดรต
- Vitamin B1/ Thiamin : สำคัญในการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต
- Vitamin B2/ Riboflavin : ช่วยในการสร้างพลังงานจากคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีน
- Vitamin B3/ Niacin : จำเป็นในขบวนการย่อยไขมัน โปรตีน และคาร์โบไฮเดรต
- Vitamin B5/ Pantothenic acid : จำเป็นสำหรับการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และกรดอะมิโนบางชนิด
- Vitamin B6/ Pyridoxine : ช่วยเผาผลาญกรดอะมิโน น้ำตาลกลูโคส และกรดไขมัน
- Vitamin B7/ Biotin : สร้างดีเอ็นเอ/อาร์เอ็นเอ ช่วยผลิตกรดไขมัน และกรดอะมิโนบางชนิด
- Vitamin B9/ Folic acid : ต้องใช้สำหรับการสังเคราะห์ดีเอ็นเอ และการเผาผลาญเมทไธโอนีน (กรดอะมิโน)
- Choline : จำเป็นในการขนส่งไขมันในร่างกาย เป็นส่วนประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์ และสร้างสารสื่อประสาท
แร่ธาตุ (Minerals)
แร่ธาตุมีความจำเป็นในการช่วยให้ร่างกายทำงานได้ปกติ
- Calcium: เสริมสร้างกระดูกและฟันที่แข็งแรง
- Phosphorus: องค์ประกอบของกระดูก ฟัน มีความสำคัญต่อการใช้พลังงานของเซลล์ การสร้างกรดอะมิโน และโปรตีนในร่างกาย
- Magnesium: รักษาสมดุลการทำงานของเอนไซม์ การเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน
- Potassium: สำคัญสำหรับการทำงานของประสาท การหดตัวของกล้ามเนื้อ และจังหวะการเต้นของหัวใจ
- Sodium and Chloride: ช่วยในการรักษาสมดุลน้ำ นำส่งกระแสประสาท รักษาสมดุลระหว่างกรดและเบส (Acid-base balance) และการหดตัวของกล้ามเนื้อ
- Iron: จำเป็นสำหรับการขนส่งออกซิเจนไปทั่วร่างกาย
- Zinc: จำเป็นสำหรับการเผาผลาญสารอาหาร
- Iodine: เป็นส่วนประกอบของฮอร์โมน Thyroid
- Manganese: ทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ นอกจากนี้ยังมีความสำคัญต่อขบวนการเผาผลาญ เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และการเจริญเติบโตของกระดูก
- Copper: ช่วยในการดูดซึมและขนส่งธาตุเหล็ก การเกิดสีผิว และการเจริญเติบโตของกระดูก
- Selenium: เป็นสารต้านอนุมูลอิสระทำงานร่วมกับวิตามินอี
การเลือกอาหารแมวที่เหมาะสม
ในท้องตลาดมีอาหารแมวให้เลือกหลากหลายชนิด ทำให้การตัดสินใจเลือกอาหารเป็นเรื่องยาก แต่เราสามารถจำแนกชนิดของอาหารแมวออกได้เป็น 4 ประเภท ได้แก่
อาหารเม็ด: อาหารเม็ดแต่ละยี่ห้อในท้องตลาด จะต้องผ่านมาตรฐานการผลิต และมีโภชนาการครบถ้วน เป็นชนิดอาหารที่สะดวกต่อการให้ มีรูปแบบโภชนาการที่หลากหลายแตกต่างกันไปตามอายุ สถานะร่างกาย และสุขภาพของแมว โดยในประเทศไทยจะแบ่งเกรดอาหารตามคุณภาพวัตถุดิบที่ใช้ทำ หลักๆจะมี 4 เกรด ได้แก่
ไม่สามารถระบุเกรดได้ (Non-grade)
เกรดตลาด (Commercial grade)
เกรดพรีเมียม (Premium grade)
เกรดโฮลิสติก (Holistic grade)
อาหารเปียก: มีความน่ากิน และมีส่วนประกอบของน้ำมากกว่าอาหารเม็ด จึงเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับแมวที่มีปัญหาเกี่ยวกับเดินปัสสาวะ แมวที่ไม่ค่อยชอบกินน้ำ หรือทานอาหารเม็ดยาก โดยในประเทศไทยสามารถแบ่งได้หลากหลายยี่ห้อ หลากหลายวัตถุดิบ หรือหลากหลายรูปแบบของอาหารเปียก เช่น น้ำเกรวี่ เยลลี่ เป็นชิ้นเนื้อ และ รูปแบบมูส เป็นต้น
อาหารดิบ หรือ BARF : ประกอบด้วยเนื้อ อวัยวะสัตว์ดิบ และกระดูกสัตว์ บางคนอาจนิยมให้อาหารประเภทนี้ เพราะเป็นการเลียนแบบการกินอาหารตามธรรมชาติของสัตว์ ทำให้สัตว์มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ข้อควรระวังคืออาจมีความเสี่ยงจากการปนเปื้อนแบคทีเรีย เช่น Salmonella และ E.coli แล้วทำให้สัตว์ท้องเสีย หรือเจ็บป่วยรุนแรงได้ จึงจำเป็นต้องซื้อจากผู้ผลิตที่น่าเชื่อถือ
อาหารที่ปรุงเอง: แม้จะควบคุมส่วนผสมได้เอง และผ่านขบวนการที่ทำให้สูญเสียคุณค่าทางอาหารน้อย (Minimal process food) แต่ต้องใช้การศึกษาและความเชี่ยวชาญอย่างมากเพื่อให้แน่ใจว่ามีสารอาหารครบถ้วน และสมดุล จึงแนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการสัตว์เลี้ยงในการปรุงให้กินเอง
การวางแผนการให้อาหารเฉพาะตัว ตามความต้องการของแมวแต่ละตัว
แผนการให้อาหารที่ดีที่สุดสำหรับแมวของคุณจะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ดังนี้:
- อายุ: ลูกแมวมีความต้องการทางโภชนาการที่แตกต่างจากแมวโต
- น้ำหนัก: แมวของคุณมีน้ำหนักเกิน หรือน้ำหนักน้อยกว่ามาตรฐาน
- สถานะสุขภาพ: แมวที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคไต โรคหัวใจ อาจต้องปรับเปลี่ยนอาหารตามคำแนะนำ
- ระดับกิจกรรม: แมวที่มีชอบวิ่งเล่นมากๆ อาจต้องการแคลอรี่สูงขึ้น
สถานะ/โรค | แนวทางการให้อาหาร | ข้อควรระวัง |
---|---|---|
แมวตั้งท้อง/ให้นมลูก | อาหารสูตรสำหรับแมวตั้งท้อง/ให้นมลูก ให้กินอาหารปริมาณมากขึ้น ควรเลือกอาหารที่มีโปรตีน ไขมัน และแร่ธาตุสูง | ไม่ควรให้กินอาหารแมวโต พลังงานที่ต้องได้รับขึ้นกับจำนวนลูก |
แมวเด็ก (หย่านม-6 เดือน) | อาหารสูตรสำหรับแมวเด็กให้กิน อาหารหลายมื้อ ตลอดทั้งวัน ควรเลือกอาหารที่มีโปรตีนและไขมันสูง เพื่อช่วยในการเจริญเติบโต | ไม่ควรให้กินอาหารแมวโต |
แมวโต (อายุ 6 เดือนขึ้นไป) | อาหารสูตรสำหรับแมวโตควรเลือกอาหารที่มีโปรตีนและไขมันปริมาณเหมาะสม | ควรเลือกอาหารที่เหมาะกับสายพันธุ์และระดับกิจกรรมของแมวควรควบคุมน้ำหนักให้คงที่ |
แมวแก่ (อายุ 7 ปีขึ้นไป) | อาหารสูตรสำหรับแมวแก่ควรเลือกอาหารที่มีโปรตีน ไขมัน และแร่ธาตุปริมาณเหมาะสม | ต้องปรับอาหารให้เหมาะกับโรคประจำวัย |
แพ้อาหาร | อาหารแมวสำหรับแมวแพ้ง่ายควรเลือกอาหารที่ไม่มีส่วนผสมของโปรตีนที่แมวแพ้อาจต้องทดลองอาหารหลายชนิดเพื่อหาอาหารที่เหมาะสม | ควรปรึกษาสัตวแพทย์ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดอาการแพ้ |
โรคผิวหนังอักเสบ (ไม่เกี่ยวกับอาหาร) | อาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 และ 6 สูงอาจเสริมวิตามิน A และ E | การเสริมวิตามินตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ |
โรคข้อเสื่อม | อาหารเสริมกลูโคซามีน และคอนดรอยตินอาจเสริมโอเมก้า 3 | ควรควบคุมน้ำหนักให้คงที่ |
โรคไต (CKD) | อาหารฟอสฟอรัสต่ำ โปรตีนต่ำ โซเดียมต่ำควรเลือกอาหารที่มีโปรตีนคุณภาพสูง อาจเสริม Potassium และ Vitamin D | ควรปรึกษาสัตวแพทย์ควรให้ดื่มน้ำสะอาดเพียงพอ |
โรคหัวใจ | ควรเลือกอาหารที่มีโปรตีนคุณภาพสูงอาจเสริม Taurine และ L-carnitine อาหารโซเดียมต่ำ | ควรปรึกษาสัตวแพทย์ |
โรคตับ | ควรเลือกอาหารที่มีโปรตีนคุณภาพสูงโปรตีนต่ำ (Encephalophathic)โปรตีนปานกลาง (Nonencephalopathic) | ควรปรึกษาสัตวแพทย์ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารพิษต่อตับควรให้กินอาหารหลายมื้อเล็กๆ |
โรคระบบทางเดินอาหาร | อาเจียน/ท้องเสีย: อาหารย่อยง่ายลำไส้อักเสบเรื้อรัง: อาหารไขมันต่ำ เลี่ยงโปรตีนที่แมวแพ้ | ควรปรึกษาสัตวแพทย์ควรหลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูงระวังภาวะขาดน้ำ |
โรคระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง (FLUTD) | อาหารที่มีความชื้นสูงควบคุมแร่ธาตุ | ควรปรึกษาสัตวแพทย์ |
ภาวะนิ่ว | อาหารสูตรเฉพาะสำหรับชนิดของนิ่วเพื่อปรับ pH ปัสสาวะ | ควรปรึกษาสัตวแพทย์ระวังการติดเชื้อ |
ป่วยวิกฤตหรือพักฟื้นหลังผ่าตัด | ไขมันสูง พลังงานสูง ย่อยง่ายป้อนด้วยกระบอกฉีดยา หรือสายป้อนง่าย | ควรปรึกษาสัตวแพทย์ |
หมายเหตุ:
- ตารางนี้เป็นเพียงแนวทางทั่วไปเท่านั้น ควรปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสมกับสัตว์เลี้ยง เพื่อจะได้วางแผนการเลือกอาหารตามโรคที่สัตว์เป็น
ข้อผิดพลาดในการให้อาหารแมวที่พบได้บ่อย
ข้อผิดพลาดเหล่านี้พบบ่อยและอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของแมว:
- การให้อาหารมากเกินไป: การให้อาหารมากเกินไปอาจนำไปสู่ภาวะอ้วน ซึ่งแมวอ้วนมีความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานมากกว่าแมวที่รูปร่างปกติถึง 4 เท่า
- ให้ขนมมากเกินไป: ขนมสามารถให้เพื่อเป็นรางวัลแก่แมวได้ แต่ควรให้อย่างพอดี การให้ขนมมากเกินไปอาจทำให้ได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอจากอาหารมื้อหลักได้
- ให้กินอาหารคนหรือเศษอาหาร (Table food): เศษอาหารอาจเป็นอันตรายต่อแมว เนื่องจากมักมีเกลือ ไขมัน และส่วนผสมอื่นๆ ที่แมวไม่เหมาะสมกับแมว นอกจากนี้อาหารที่คนกินได้บางประเภทก็อาจจะเป็นพิษต่อแมวได้ เช่น หัวหอม ชอคโกแลต องุ่น เป็นต้น
- การเปลี่ยนอาหารทันที: การเปลี่ยนอาหารอย่างกะทันหันอาจทำให้ระบบย่อยอาหารของแมวผิดปกติ หากจำเป็นต้องเปลี่ยนอาหาร ควรค่อยๆ ปรับเปลี่ยนโดยผสมอาหารชนิดใหม่เพิ่มเข้าไปทีละน้อย
- กินอาหารสุนัข: ส่วนผสมหลายอย่างมีความคล้ายกับอาหารแมว ถ้าบังเอิญให้หรือให้ผิดไม่กี่ครั้ง ก็จะไม่เป็นอันตรายเท่าไร อย่างไรก็ตาม อาหารสุนัขก็ไม่ควรนำมาให้แมว เนื่องจากแมวมีความต้องการสารอาหารที่แตกต่างกับสุนัข ทำให้มีความเสี่ยงในการขาดสารอาหารเช่น ทอรีน กรดไขมันจำเป็นบางชนิด และโปรตีน เป็นต้น ทำให้มีโรคเกี่ยวกับโภชนาการตามมาได้
สิ่งสำคัญที่ควรพิจารณานอกเหนือจากอาหาร
- การเข้าถึงน้ำสะอาด: แมวต้องการน้ำดื่มที่สะอาดตลอดเวลา
- ความถี่ในการให้อาหาร: แมวเป็นสัตว์ที่กินน้อย และกินบ่อยครั้ง แต่สิ่งที่อยากให้พิจารณาเป็นหลักคือสูตรอาหารที่กิน และปริมาณที่ควรจะต้องกินโดยรวมต่อวันต้องมีความเหมาะสม
- สภาพแวดล้อมในการกินอาหาร: จัดพื้นที่ให้อาหารที่สงบ เพื่อให้แมวผ่อนคลาย ไม่เครียด และกินอาหารได้อย่างเต็มที่
โดยการทำความเข้าใจความต้องการเฉพาะของแมว เลือกอาหารที่เหมาะสม และวางแผนการให้อาหารแบบเฉพาะตัว คุณจะสามารถให้โภชนาการที่แมวของคุณต้องการสำหรับการมีสุขภาพที่ดีและอายุยืนยาว อย่าลืมปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเฉพาะ และรับการดูแลหากมีปัญหาสุขภาพ
Related Posts