7 คำถามยอดฮิต เกี่ยวกับอาหารลูกสุนัข 1 เดือน กินอะไรได้บ้าง
มาดู 7 คำถามยอดฮิตเกี่ยวกับการดูแลเรื่องอาหารในลูกสุนัขอายุ 1 เดือน อะไรที่เป็นปัญหาที่ผู้เลี้ยงค้นหาบ่อยๆ มาหาคำตอบกันได้เลย
ลูกสุนัขอายุ 3-4 สัปดาห์ หรือประมาณ 1 เดือน เป็นช่วงเริ่มต้นที่สำคัญของการเปลี่ยนจากนมแม่สุนัข มาเป็นอาหารปกติ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่น้ำนมแม่สุนัขเริ่มมีปริมาณลดลง ในขณะเดียวกันฟันน้ำนมของลูกสุนัขกำลังค่อยๆเริ่มงอกขึ้น การดูแลเรื่องอาหาร และสุขภาพของลูกสุนัขในช่วงอายุนี้จึงจำเป็นจะต้องได้รับการดูแลเพิ่มเติมมากกว่าปกติ โดยลูกสุนัขจะอย่านมที่อายุประมาณ 6-7 สัปดาห์
เลือกเนื้อหาที่ต้องการอ่าน
การให้อาหารสำหรับลูกสุนัขอายุ 1 เดือน
อาหารสำหรับลูกสุนัข 1 เดือน ควรเป็นอาหารเหลว ลักษณะคล้ายโจ๊ก(gruel) เพื่อให้ง่ายต่อการกิน และสัมพันธ์ไปกับการงอกของฟันของลูกสุนัข เราสามารถเตรียมอาหารที่เหมาะสมสำหรับลูกสุนัขวัย 1 เดือนได้ดังนี้ ส่วนประกอบหลัก คือ อาหารสำหรับสุนัขทั่วไป(Commercial food) แต่ต้องเป็นอาหารสูตรที่ช่วยในการเจริญเติบโต(Growth and reproduction formula) เพื่อให้ลูกสุนัขได้รับสารอาหารครบถ้วนตามวัย เช่น อาหารสำหรับลูกสุนัขโดยเฉพาะ(Puppies) อาหารสำหรับแม่และลูก(Mother and baby dog) อาหารสูตรสำหรับทุกช่วงอายุ(All life stages) ที่จะมีสารอาหารครอบคลุมสำหรับช่วงเจริญเติบโตด้วยเช่นกัน
- ผสมอาหารเปียก 50% + น้ำ 50% โดยแนะนำให้ใช้น้ำอุ่นๆ เนื่องจากร่างกายลูกสุนัขยังรักษาอุณหภูมิได้ไม่ดี ทำให้รู้สึกหนาวง่าย อุณหภูมิร่างกายต่ำได้ง่าย
- ผสมอาหารเม็ด 25%+ น้ำ 75% โดยบดอาหารเม็ดให้ละเอียดก่อนผสมกับน้ำอุ่น
สามารถใส่จานหรือถาดตื้นเพื่อให้ลูกสุนัขสามารถเลียได้ถึง ซึ่งในช่วงแรกอาจจะเลอะเทอะ เปรอะเปื้อนหน้าและตัวบ้างเป็นเรื่องปกติ หรืออาจจะใช้นิ้วตวัดอาหารแล้วให้สุนัขเลียก็ได้เช่นกัน เมื่อสุนัขเริ่มกินอาหารได้เก่งขึ้น ก็ค่อยๆลดปริมาณน้ำที่ใช้ผสมลง ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่เจอเหตุการณ์ถ่ายเหลว อาเจียนในลูกสุนัขได้สูง ถ้าเจออาจจะปรับเป็นอาหารที่ย่อยง่ายขึ้น เช่น อาหารสูตรสำหรับทางเดินอาหาร ที่ออกแบบมาให้จำเพาะกับลูกสุนัขโดยเฉพาะ หรือพาลูกสุนัขไปปรึกษาและพบสัตวแพทย์ เมื่อพบอาการดังกล่าวนานกว่า 1 วัน ในกรณีที่ถ่ายเหลวหรืออาเจียนเยอะมาก จนลูกสุนัขเพลีย ซึม อ่อนแรง แนะนำให้ป้อนน้ำหวาน น้ำตาล หรือน้ำผึ้งเจอจางกับน้ำอุ่น เพื่อเพิ่มพลังงานก่อนพาไปหาสัตวแพทย์
📌 เริ่มฝึกในการกินอาหารเม็ด หรืออาหารเปียกตอนอายุ 4 สัปดาห์ เพื่อให้สามารถค่อยๆปรับสภาพทางเดินอาหารให้พร้อมกินอาหารเม็ดหรืออาหารเปียกแบบเต็มที่ ตอนหย่านมที่ 6-7 สัปดาห์
ปริมาณอาหารที่ลูกสุนัขกินต่อมื้อ
ปริมาณอาหารที่เหมาะสมกับลูกสุนัข จะขึ้นกับน้ำหนักตัวของลูกสุนัข(กิโลกรัม) เพื่อกำหนดว่าลูกสุนัขต้องกินอาหารกี่กรัมและคะแนนความอ้วน-ผอม หรือ Body Condition Score (BSC) เพื่อบอกว่าปริมาณอาหารที่กินอยู่นี้ เหมาะสมกับลูกสุนัขแล้วหรือยังควรจะต้องเพิ่มหรือลดปริมาณอาหารหรือไม่ เบื้องต้นเราสามารถชั่งน้ำหนักลูกสุนัข และพิจารณาปริมาณการให้อาหารตามฉลากของบรรจุภัณฑ์ของอาหารแต่ละยี่ห้อได้เลย โดยหลักการให้อาหารสำหรับลูกสุนัขคือ ให้น้อยๆ แต่บ่อยๆ โดยแนะนำให้ให้อาหารประมาณ 2-4 มื้อต่อวัน
ให้นมวัวแทนนมแม่สุนัข หรือแทนนมทดแทนได้ไหม
นมจากแม่สุนัขให้พลังงาน ให้โปรตีน และแร่ธาตุที่มากกว่า และมี Lactose น้อยกว่านมวัว จึงไม่แนะนำให้ใช้นมวัวทั่วไปแทนนมแม่สุนัขโดยตรง เพราะมีโอกาสท้องเสียได้ง่ายกว่า การใช้นมแพะ หรือผลิตภัณฑ์นมทดแทน(Milk replacer) สำหรับลูกสุนัขโดยตรงก็จะได้สารอาหารและปลอดภัยกว่าอย่างแน่นอน
โดยสามารถทำนมทดแทน(Homemade milk replacer)ให้ลูกสุนัขทานเองได้ แต่ปัญหาของการทำ คือการเตรียมวัตถุดิบที่ใช้ในการทำ ทั้งในแง่ของคุณภาพวัตถุดิบ ความคงที่ของปริมาณวัตถุดิบที่ใช้ในแต่ละครั้ง หากทำเองก็สามารถทำได้ตามสูตรดังนี้
📌 การทำนมทดแทนด้วยตนเอง จะต้องเตรียมวัตถุดิบและผสมเอง ซึ่งปัจจุบันก็มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นนมทดแทนที่มีโภชนะใกล้เคียงกับนมของแม่สุนัข ทำให้ได้สารอาหารที่ครบถ้วนมากกว่า คงที่มากว่า และเสียเวลาในการเตรียมน้อยกว่าก็ทำนมทดแทนด้วยตนเอง
ตัวอย่างนมทดแทนที่แนะนำ
อาหารสำหรับลูกสุนัข ทําเองได้ไหม
สามารถทำอาหารให้ลูกสุนัขทานเองได้ แต่ปัญหาของการทำอาหารลูกสุนัขด้วยตนเอง (Homemade puppy food) คือ สารอาหารที่ครบถ้วนและความไม่สมดุลของสูตร โดยเราจะต้องแน่ใจว่าสูตรอาหารจะมี protein, fat, calcium, vitamins และ trace minerals ที่เหมาะสมกับการเจริญเติมโตของลูกสุนัข โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องปริมาณ calcium ถ้าได้รับไม่สมดุลจะส่งผลต่อการเกิดโรคทางกระดูกได้ นอกจากนี้การเตรียมวัตถุดิบที่ใช้ในการทำ ทั้งในแง่ของคุณภาพวัตถุดิบ ความคงที่ของปริมาณวัตถุดิบที่ใช้ในแต่ละครั้งก็ถือเป็นปัญหาในการเตรียมอาหารให้กับลูกสุนัขด้วย สารอาหารหลัก หรือ Key Nutrition Factor (KNF) ที่ลูกสุนัขต้องการมีดังตารางนี้
📌 ลูกสุนัขพันธุ์เล็กและพันธ์ุใหญ่จะมีความต้องการของ Calcium ที่แตกต่างกัน ถ้าไม่ได้คำนึงถึงความสำคัญตรงนี้ ก็จะเป็นสาเหตุของการเกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับกระดูกในลูกสุนัขพันธ์ุใหญ่(Orthopedic disease) อาการหลักๆที่จะเกิดได้คือเจ็บขา
ลูกสุนัข 1 เดือนกินข้าวได้ไหม
ข้าวถือเป็นแหล่งของพลังงานและคาร์โบไฮเดรต(Carbohydrate) ที่ดี เป็นหนึ่งในวัตถุดิบของมื้ออาหารได้ แต่ทั้งนี้การให้ข้าวเป็นอาหารในลูกสุนัข ต้องคำนึงถึงวัตถุดิบอื่นๆในสูตรที่ปรุงด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าลูกสุนัขจะได้รับสารอาหารครบถ้วนและสมดุลต่อวัยเจริญเติบโตของเขา โดยเฉพาะ โปรตีน(Protein), ไขมัน(Fat), แคลเซียม(Calcium), วิตามิน(Vitamins) และ แร่ธาตุต่างๆ(Trace minerals) ตัวอย่างเช่น การให้ข้าวคลุกตับ ข้าวคลุกไก่ต้ม อย่างเดียวจะไม่เพียงพอ เพราะจะขาด vitamin และ mineral อย่างแน่นอน ถ้าสนใจอยากให้ข้าว หรือให้อาหาร homemade ควรปรึกษาสัตวแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้าน อาหาร(veterinary nutritionist) เพื่อให้น้องได้สารอาหารที่ครบถ้วนเหมาะสมต่อการเจริญเติบโต และมีสุขภาพที่ดี
ลูกสุนัขท้องอืด ไม่ถ่าย
ลูกสุนัขท้องอืด ไม่ถ่าย อาจเกิดจากสาเหตุหลายประการ เช่น กินอาหารมากเกินไป กินอาหารที่ย่อยยาก กินอาหารเร็วเกินไป กินอาหารที่เย็นเกินไป หรืออาจป่วยเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับทางเดินอาหารบางชนิด หากลูกสุนัขท้องอืด ไม่ถ่ายติดต่อกันเกิน 1 วัน ควรพาไปพบสัตวแพทย์
ลูกสุนัขถ่ายเหลว
ลูกสุนัขถ่ายเหลวอาจเกิดจากสาเหตุหลายประการ เช่น เปลี่ยนอาหารใหม่เร็วเกินไป ลำไส้ของลูกสุนัขปรับตัวได้ไม่ทัน ความสะอาดของอาหารและภาชนะใส่น้ำและอาหาร รวมถึงความสะอาดของสิ่งแวดล้อมรอบตัว เช่น สุนัขไปเลียพื้นที่สกปรก กินอาหารที่มีไขมันสูง กินอาหารที่มีสารพิษ หรือป่วยเป็นโรคบางชนิด หากลูกสุนัขถ่ายเหลวติดต่อกันหลายวัน หรือท้องและอาเจียนอย่างรุนแรง(Score 6-7) ควรพาไปพบสัตวแพทย์
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
Small Animal Clinical Nutrition, 5th edition
ขอขอบคุณข้อมูลจากคุณหมอ
Warittada Olantanakul, DVM
Pet food industry’s nutrition specialist
Related Posts